ราชกิจจานุเบกษาประกาศบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิ

ราชกิจจานุเบกษาประกาศบังคับใช้กฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์

เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์พ.ศ.2557 ในวันที่ 26ธ.ค.57 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศคือวันที่ 27ธ.ค.57 หลังพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสนช.เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา

โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญเพื่อคุ้มครองสัตว์มิให้ถูกทารุณกรรมอย่างไม่เหมาะสมซึ่งหากผู้ใดกระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจํา ทั้งปรับ ส่วนเจ้าของจะต้องจัดสวัสดิภาพให้สัตว์มีความเป็นอยู่ที่ดีตามสภาวะของสัตว์แต่ละชนิด และห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อยละทิ้ง หรือ กระทําการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท

นายชัยชาญ เลาหศิริปัญญา เลขาธิการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “เดลินิวส์ออนไลน์” ว่าการประกาศใช้พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ครั้งนี้เป็นเรื่องน่ายินดี และเป็นข่าวดีสำหรับผู้รักสัตว์เป็นอย่างมากทั้งยังส่งผลไปถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการที่ประเทศมีกฎหมายเพื่อออกมาช่วยคุ้มครองสัตว์ โดยกฎหมายฉบับนี้จะทำให้การทารุณสัตว์ที่เห็นเป็นประจำบ่อย ๆ ลดน้อยลงและเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงบทลงโทษและดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง สำหรับสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์และผู้รักสัตว์รวมถึงเครือข่ายคนรักสัตว์รู้สึกพอใจกับกฎหมายนี้มาก ถึงแม้จะไม่ครอบคลุมการคุ้มครองสัตว์ได้ทั้งหมดแต่สามารถช่วยสัตว์ที่ถูกทารุณกรรมโดยไม่มีเหตุอันควร ทารุณโดยมีการบันดาลโทสะ หรือ ไม่รู้เท่าทัน นอกจากนี้ทางสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทยจะช่วยกันเผยแพร่หลายละเอียดของกฎหมายทั้งทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค โปสเตอร์ และสติ๊กเกอร์ เพื่อนำไปติดตามสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการสัญจรของผู้คนมาก ๆ เช่นโรงพยาบาล โรงเรียน หรือ สถานที่ราชการเพื่อไม่ให้ทุกคนอ้างว่ากระทำผิดโดยไม่รู้กฎหมายได้

อย่างไรก็ตามพ.ร.บ.ดังกล่าวยังระบุถึงกรณีที่ไม่ถือเป็นการทารุณกรรมสัตว์ตามมาตรา 21 ไว้ดังนี้

1.การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร ทั้งนี้เฉพาะสัตว์เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหาร

2.การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจําหน่ายเนื้อสัตว์

3.การฆ่าสัตว์เพื่อควบคุมโรคระบาดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์

4.การฆ่าสัตว์ในกรณีที่สัตวแพทย์เห็นว่าสัตว์ป่วยพิการ หรือ บาดเจ็บ และไม่สามารถเยียวยา หรือ รักษาให้มีชีวิตอยู่รอดได้โดยปราศจากความทุกข์ทรมาน

5.การฆ่าสัตว์ตามพิธีกรรมหรือความเชื่อทางศาสนา

6.การฆ่าสัตว์ในกรณีที่มีความจําเป็นเพื่อป้องกันอันตรายแก่ชีวิต หรือ ร่างกายของมนุษย์ หรือ สัตว์อื่น หรือ ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สิน

7.การกระทําใด ๆ ต่อร่างกายสัตว์ ซึ่งเข้าลักษณะของการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์โดยผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ หรือ ผู้ซึ่งได้รับยกเว้นให้กระทําได้โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนและได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์จากสัตวแพทยสภาตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์หน้า 10 เล่ม 131 ตอนที่ 87 ราชกิจจานุเบกษา 26 ธันวาคม 2557

8.การตัดหู หาง ขน เขา หรือ งา โดยมีเหตุอันสมควร และไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์ หรือ การดํารงชีวิตของสัตว์

9.การจัดให้มีการต่อสู้ของสัตว์ตามประเพณีท้องถิ่น

10.การกระทําอื่นใดที่มีกฎหมายกําหนดให้สามารถกระทําได้เป็นการเฉพาะ

11.การกระทําอื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ตามราชกิจจานุเบกษาระบุว่า เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก และเป็นองค์ประกอบสําคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกกระทําการทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนําสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ทั้งในระหว่างการเลี้ยงดูการขนส่ง การนําสัตว์ไปใช้งาน หรือ ใช้ในการแสดง ดังนั้นเพื่อกําหนดหลักเกณฑ์ในการป้องกันการทารุณกรรม และการจัดสวัสดิภาพสัตว์เพื่อให้สัตว์ได้รับการคุ้มครองตามธรรมชาติของสัตว์อย่างเหมาะสมจึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้..


ที่มา:หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันเสาร์ 27 ธันวาคม 2557 เวลา 19:01 น.



27/12/2557