ศธ.สั่งคุมเข้มกระบวนการสอบวินัยขรก.

หลังศาลปค.เพิกถอนคำตัดสินไล่ออก-ปลด6จนท.สปช.เหตุพลาดเทคนิคตั้งกก.
ศธ.หวั่นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย สั่งคุมเข้มกระบวนการสอบวินัยข้าราชการทุกกรณี หลังศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออกและปลดข้าราชการ สปช. 6 คน กรณีซื้อห้องคอมพ์ โปรแกรมบริหาร รร.ประถม เนื่องจากศาลเห็นว่ากรรมการสอบมีส่วนได้-ส่วนเสีย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษข้าราชการปลดข้าราชการ 6 ราย โดยการปลดออกจากข้าราชการ กรณีการจัดซื้อห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์และโปรแกรมบริหารโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 5,999 หน่วย วงเงิน 360 ล้านบาท เพื่อใช้กับโรงเรียน 30,000 โรง ตั้งแต่ พ.ศ.2542 ที่ผ่านมา โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่คำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าการพิจารณาคำสั่งปกครองของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือนและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.พ.) ศธ. ที่เห็นชอบให้ลงโทษนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีบัญญัติห้ามเจ้าหน้าที่มีส่วนได้-ส่วนเสียร่วมนั่งเป็นกรรมการสอบสวนพิจารณาลงโทษด้วย ด้วยเหตุนี้ ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นควรว่าเป็นการลงโทษดังกล่าวดำเนินการโดยมิชอบในกระบวนการ

นพ.กำจรกล่าวต่อว่า จากนี้ ศธ.ก็จะต้องดำเนินการคืนตำแหน่งและเงินเดือนย้อนหลังให้กับข้าราชการทั้ง 6 รายด้วย โดยจะต้องไปคำนวณไปถึงการปรับขึ้นเงินเดือนตามปกติเช่นเดียวกับข้าราชการทั่วไปด้วย ส่วนผู้เกษียณอายุราชการไปแล้วก็จะได้รับบำเหน็จบำนาญตามสิทธิ์ หลังจากนี้จะต้องประสานไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อหารือถึงการจ่ายเงินดังกล่าว

\"กรณีนี้ถือว่าเป็นการผิดพลาดในส่วนของกระบวนการ แต่ยังไม่ได้มีการพิจารณาความผิดที่เป็นของบุคคล ก็ต้องไปดูว่าจะมีการรื้อคดีกลับมาพิจารณาใหม่หรือไม่\" ปลัด ศธ.กล่าว และว่า พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ก็ได้กำชับในที่ประชุมให้ระมัดระวังกระบวนการสอบสวนทางวินัย หรือเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของข้าราชการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างที่อาจจะมีการเอื้อประโยชน์ให้กับญาติ หรือคนใกล้ชิด ซึ่งก็ถือว่าเป็นความผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งผู้พิจารณาโทษจะต้องไม่มีส่วนได้-ส่วนเสีย โดย สป.ศธ.จะไปออกแบบแบบฟอร์ม ก่อนการพิจารณาตัดสินโทษ ให้คณะกรรมการได้พิจารณาตัวเองก่อนว่าเป็นผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียหรือไม่ และส่งให้ฝ่ายเลขาฯ เพื่อเก็บเป็นหลักฐาน ซึ่งมีหลายกระทรวงได้ดำเนินการมาแล้ว ทั้งนี้ สำหรับคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาทางวินัยอย่างร้ายแรง รมว.ศธ.ก็สั่งให้เร่งดำเนินการแล้วเสร็จโดยเร็ว เนื่องจากบางคดีกรรมการหรือประธานสอบสวนกำลังจะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าว เป็นคำสั่ง ศธ.ที่ สป.493/2542 สป.494/2542 สป.495/2542 สป.496/2542 สป.497/2542 และ สป.498/2542 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2542 ที่ลงโทษข้าราชการโดยไล่นายพิสิษฐ์ ศิวิลัย อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (กปช.) และนายชัชวาลย์ วัดอักษร หัวหน้าฝ่ายสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ออกจากราชการ และปลดนายกมล ภู่ประเสริฐ เลขาธิการ กปช. นายเลี่ยม พูลเอี่ยม รองเลขาธิการ กปช. นายยุทธชัย อุตมา รองเลขาธิการ กปช. และนายเกียรติ อัมพรายน์ ผอ.สำนักนิเทศและพัฒนามาตรฐานการศึกษา สปช.


ที่มา:ไทยโพสต์ Tuesday, August 18, 2015 - 00:00



17/08/2558