ใช้ช่อง"เทียบโอน"ดึงเด็กเข้าอาชีวะ สบโอกาสพบมีเด็กม.4ขึ้นม.5ไม่ได้

\"ชัยพฤกษ์\" เผย สอศ.เตรียมใช้ช่อง \"เทียบโอนหน่วยกิต\" ดึงเด็กสายสามัญที่เรียนต่อสายสามัญต่อไม่ไหวให้มาเรียนอาชีวะแทน เผยแต่ละปีมีเด็กเข้าข่ายรูปแบบนี้ประมาณ 40,000 คน เตรียมตั้งคณะทำงานศึกษาเนื้อหาการเรียนหลักสูตร ปวช. เพื่อเทียบเคียงกับสายสามัญก่อนดำเนินการต่อไป
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า จากกรณีที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ต้องการที่จะเพิ่มผู้เรียนในสายอาชีพให้มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งในแต่ละปีจะมีนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประมาณ 900,000 คน มีเด็กเลือกเรียนต่อในสายสามัญมัธยมศึกษาตอนปลาย ประมาณ 500,000 คน และศึกษาต่อสายอาชีพ 300,000 คน ที่เหลืออาจจะไม่ได้ศึกษาต่อหรือออกนอกระบบไป ทั้งนี้ในจำนวนผู้ที่เลือกศึกษาต่อในสายมัธยมศึกษาตอนปลายมีอยู่จำนวนหนึ่งที่เรียนไปแล้วไม่สามารถเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้ จากสถิติเฉลี่ยของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมามีนักเรียนที่ศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สามารถผ่านหลักสูตรและได้ศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 5 ได้ประมาณ 85% หรือมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกชั้นปีที่ 4 ไม่ได้เลื่อนชั้นจำนวน 15% คิดเป็นประมาณ 40,000 คนต่อปี ทำให้คิดว่าเด็กกลุ่มนี้น่าจะกลับเข้ามาเรียนต่อในสายอาชีพได้ โดยสามารถนำชั่วโมงที่เรียนไปแล้วในสายสามัญมาเทียบโอนเมื่อมาเรียนสายอาชีพ
นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า จากระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาและการประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ปี 2556 ได้กล่าวถึงการเทียบโอนผลการเรียนว่า สถานศึกษาสามารถที่รับเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายได้ไม่เกิน 2 ใน 3 ของหน่วยกิต หลักสูตร ปวช. ซึ่งมีทั้งหมด 103 หน่วยกิต เพราะนี้จะมีกลุ่มวิชาทักษะชีวิตที่จะสามารถเทียบโอนได้จำนวน 21 หน่วยกิต ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เป็นต้น แต่หลักเกณฑ์ในการเทียบโอนหน่วยกิตจำเป็นจะต้องให้เนื้อหา 60% ของวิชาที่เรียนไปแล้วตรงกับรายวิชาที่จะเทียบโอน และจะต้องดูเรื่องผลการเรียน หากได้ต่ำกว่า 2 ในวิชาที่เทียบโอน ทางวิทยาลัยที่รับเทียบโอนจะต้องมีการประเมินใหม่ว่าจะรับเทียบโอนหรือไม่ ถ้าหากได้ผลการศึกษามากกว่า 2 ขึ้นไป ทางวิทยาลัยมีสิทธิ์ที่จะรับเทียบโอนหรือประเมินใหม่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับทางวิทยาลัย หากประเมินใหม่ ผลจะต้องไม่มากกว่าผลการศึกษาเดิม
เลขาฯ กอศ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จำนวนหน่วยกิตของ สพฐ. และ สอศ.ยังมีความแตกกันอยู่ เพราะ สพฐ.จะนับหน่วยกิตตามชั่วโมงที่เรียน แต่ของ สอศ.จะแยกย่อยไปกว่านั้น ทำให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันของวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่ว่าอาจจะเทียบโอนได้หรือเทียบโอนไม่ได้ ทาง สอศ.จะแจ้งแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเทียบโอนดังกล่าวไปยังวิทยาลัยอาชีวศึกษาทั่วประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และยังมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาของแต่ละวิชาทั้งในหลักสูตรของทาง สพฐ.และทาง สอศ. โดยจะนำหลักสูตร ปวช.เป็นตัวตั้งและวิเคราะห์ให้เข้ากับตัวชี้วัดแต่ละช่วงชั้นที่ สพฐ.กำหนด ตามมาตรฐานการเรียนของแต่ละกลุ่มสาระเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และนำเกณฑ์การเทียบโอนที่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกวิทยาลัย.



ที่มา:หนังสือพมพ์ไทยโพสต์ Monday, 17 November, 2014 - 00:00



17/11/2557