ใส่บาตรหนังสือ : ๖๐ พรรษาปัญญาบารมี (ครั้งที่ ๘)

ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก และสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ จัดกิจกรรม ใส่บาตรหนังสือ ครั้งที่ 8 “60 พรรษา ปัญญาบารมี” เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน 2558 ซึ่งมีการแสดง ปาฐกถาธรรม “60 พรรษา ปัญญาบารมี” โดย พระราชญาณกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ซึ่งท่านได้ให้ความหมายของปัญญาบารมีในหลักธรรมนั้น เรียกว่า ไตรสิกขา หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา กล่าวคือ ศีลคือวินัย สมาธิคือจิตสำนึก ปัญญาคือการผสมผสานระหว่างวินัยและจิตสำนึกของมนุษย์ ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ปัญญาโลกัสมิง ปัตโวโต” ปัญญาเปรียบเสมือนแสงสว่างในโลก เวลาพระอาทิตย์ขึ้นโลกหายจากความมืด แต่ในถ้ำยังคงมืดอยู่ แต่ปัญญาจะส่องสว่างแม้จะอยู่ในถ้ำมืด”

“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงเป็นปัญญาของประเทศ ดังจะเห็นจาก ทรงรักการศึกษาการเรียนรู้ ทรงจดบันทึกและค้นคว้าเพิ่มเติม หากเยาวชนของเราเป็นนักอ่าน และจดบันทึกเหมือนพระองค์ท่าน เด็กและเยาวชนจะเข้าใจความหมายของคำว่าปัญญา ได้ดีกว่าการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีอย่างสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ซึ่งทำให้เด็กไม่รู้จักจดบันทึกและทบทวน” พระราชญาณกวี กล่าว

ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักอ่านที่เป็นแบบอย่างแห่งการศึกษาและการเรียนรู้ ดังจะเห็นได้จากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการส่งเสริมการอ่านและการศึกษามาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือพัฒนาการศึกษาแก่เยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตลอดจนส่งเสริมการศึกษาแก่สามเณร ให้มีโอกาสได้ศึกษาทั้งสายสามัญควบคู่ไปกับการศึกษาทางธรรม”

ในปีนี้ได้เปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทำบุญใส่บาตรหนังสือ และถวายคูปองจัตุปัจจัยแก่พระภิกษุ สามเณร จำนวน 99 รูป จากวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก วัดยานนาวา และวัดหัวลำโพง เพื่อให้พระภิกษุสามเณรทุกรูปได้เลือกสรรหนังสือ สื่อการเรียนรู้ ได้ตรงตามความต้องการ

สามเณรเอกชัย เมรี อายุ 17 ปี วัดยานนาวา กล่าวถึงความรู้สึกต่อกิจกรรมครั้งนี้ว่า “คูปองที่ได้รับมา ได้นำมาเลือกหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ จิตวิทยา อัตชีวประวัติคนสำคัญ และการศึกษาเกี่ยวกับมนุษย์ เพื่อนำไปใช้ในความจำเป็นต่างๆ และเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตในอนาคต การเลือกหนังสือในร้าน มันมีความหลากหลาย ได้ลองอ่าน ลองสัมผัสหนังสือ หนังสือยังมีข้อมูลที่ชัดเจนอ้างอิงได้มากกว่าข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต ซึ่งพระและสามเณรมีโอกาสน้อยที่จะเข้าร้านหนังสือ กิจกรรมใส่บาตรหนังสือเป็นกิจกรรมที่ดีมาก ทำให้พระภิกษุสามเณรได้เลือกหนังสืออย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลว่าคนอื่นจะมองว่าไม่เหมาะสม ยังเป็นการเปิดโลกทัศน์ ให้สำหรับพระภิกษุสามเณรที่ขาดโอกาส ได้เดินเลือกซื้อหนังสือที่สนใจด้วยตัวเอง หนังสือที่อ่านแล้ว ยังเป็นประโยชน์แก่พระรูปอื่น หนังสือบางส่วนยังรวบรวมไว้เพื่อให้บริจาคแก่ห้องสมุดที่ต่างๆ ด้วย”

ด้าน สามเณรพงษ์วิศนุ คำภูแสน อายุ 18 ปี วัดยานนาวา ซึ่งมีความเห็นคล้ายกันว่า “พระภิกษุสามเณรมีโอกาสเข้าถึงร้านหนังสือยาก มักถูกสังคมมองในแง่ลบ เมื่อพระต้องไปเดินเลือกหนังสือตามร้านหรือตามห้างสรรพสินค้า กิจกรรมใส่บาตรหนังสือจึงมีประโยชน์มากทีเดียว ทำให้พระเลือกหนังสือในร้านได้อย่างไม่ต้องกลัวสายตาคนอื่นมอง ยังได้เลือกหนังสือที่ต้องการด้วยตัวเอง เพื่อเพิ่มพูนความรู้ พระสงฆ์ สามเณร ก็ต้องศึกษาเล่าเรียนเหมือนคนทั่วไป หนังสือที่อ่านจบส่วนใหญ่จะถูกส่งต่อให้ห้องสมุดสาธารณะในต่างจังหวัด ซึ่งไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือดีๆ หากพุทธศาสนิกชนต้องการนำหนังสือมาถวายก็เป็นสิ่งดี หนังสือแบบเรียน หนังสือทางด้านการศึกษา สำคัญกับสามเณรที่ศึกษาอยู่

สำหรับวันนี้ได้เลือกหนังสือเกี่ยวกับหลักภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และหนังสือคู่มือเตรียมสอบแอดมิชชั่น เพื่อเตรียมตัวเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับครู ซึ่งผมอยากกลับไปเป็นพระอาจารย์ที่ จ.สกลนคร บ้านเกิด สอนเด็กที่ไม่มีปัญญาเข้าโรงเรียนเอกชน สอนทั้งที่เป็นพระนี่ล่ะ ข้อดีคือจะได้สอนภาษาอังกฤษควบคู่ศีลธรรมกันไป

สามเณรพงษ์วิศนุ ยังทิ้งท้าย “ฝากให้เยาวชนของเราวางสมาร์ทโฟน แท็บแล็ต แล้วหันมาอ่านหนังสือ วันละ 2-3 ชั่วโมงก็ยังดี คงไม่มากนักสำหรับการอ่าน หากจะถามว่าอ่านไปเพื่อใคร อันดับแรกคือเพื่อตัวเราและคนที่รักเรา”

สำหรับหนังสือบางส่วนที่พุทธศาสนิกชนพร้อมใจกันมาใส่บาตรในวันนี้ จะถูกส่งต่อไปยังห้องสมุดของวัดและโรงเรียนพระปริยัติธรรมในส่วนภูมิภาค เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาให้พระภิกษุสามเณรได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่อไป

“การใส่บาตรหนังสือจึงแตกต่างจากการใส่บาตรข้าวปลาอาหาร เพราะหนังสือเปรียบเสมือนอาหารสมองที่ต้องบ่มเพาะผ่านการอ่านสะสม จนก่อให้เกิดขุมทรัพย์ทางปัญญาที่มีคุณค่า การให้หนังสือจึงเปรียบได้กับการให้ปัญญา ที่ก่อให้เกิดความอิ่มเอมใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้พระภิกษุ สามเณร สามารถเข้าถึงแหล่งการศึกษาที่ยั่งยืนทั้งทางธรรม และสายสามัญ ก่อให้เกิดศาสนทายาทที่เปี่ยมด้วยปัญญาบารมี ที่จะช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนสืบไป


ที่มา:หนังสือพิมพ์บ้านเมืองวันพุธ ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557, 10.15 น.



02/01/2558