ได้รางวัลกันอื้อ! "พล.อ.ดาว์พงษ์" สั่งทบทวนมอบรางวัล"หนึ่งแสนครูดี"

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา(บอร์ดคุรุสภา) ได้มอบหมายให้คุรุสภาไปศึกษาเกี่ยวกับการมอบรางวัลหนึ่งแสนครูดีว่าเป็นอย่างไร สร้างความภาคภูมิใจให้แก่ครูหรือไม่ รวมทั้งครูได้รับรางวัลกันเกือบครบทุกคนแล้ว

นายชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัด ศธ. ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า ในการประชุมบอร์ดคุรุสภาครั้ง สำนักงานคุรุสภาได้เสนอรายชื่อครูที่ได้รางวัลหนึ่งแสนครูดี ประจำปี 2558 กว่า 9 หมื่นคน ซึ่ง รมว.ศธ.ตั้งข้อสังเกตว่า มีครูได้รับรางวัลจำนวนมาก จึงมอบให้คุรุสภากลับมาพิจารณาความเหมาะสมของรางวัลว่า เป็นประโยชน์หรือเป็นกำลังใจให้ครูพัฒนาการเรียนการสอนหรือไม่ และในภาพรวมทุกวันนี้ ศธ.มีการมอบรางวัลให้ครูหลายรางวัลมาก และคุรุสภาเองก็มีการมอบรางวัลที่เป็นเกียรติประวัติแก่ครูหลายรายการอยู่แล้ว รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ก็มอบรางวัล obec awards เป็นต้น

รองปลัด ศธ.กล่าวว่า รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ.ให้ไปสำรวจว่า มีรางวัลอะไรบ้างที่เป็นรางวัลสุดยอด ที่ครูอยากได้ หรือมีรางวัลอะไรที่ครูรู้สึกว่าเป็นรางวัลที่มีคุณค่ามากน้อยอย่างไร ที่สำคัญรางวัลเหล่านั้น ต้องตอบโจทย์ได้ด้วยว่าสามารถพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนได้อย่างไร ถ้าสามารถตอบโจทย์ได้ว่าพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนจริงก็สมควรมีการมอบรางวัลต่อไป แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ฟันธงว่าจะยกเลิกหรือจะยุติการมอบรางวัลดังกล่าว ดังนั้นประเด็นที่คุรุสภาต้องกลับมาดู คือ หลักเกณฑ์การได้รับรางวัล และวิธีการประเมินเพื่อ ให้ได้รับรางวัล อาจต้องมีการทบทวน

ผู้สื่อข่าวถามว่า รางวัลหนึ่งแสนครูดีถูกนำไปใช้ประกอบการพิจารณาผลงานเชิงประจักษ์ในการเลื่อนหรือขอวิทยฐานะของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)หรือไม่ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า การนำรางวัลต่างๆ ไปใช้ประกอบการพิจารณานั้นถือเป็นผลพลอยได้ แต่เท่าที่ทราบไม่ได้นำรางวัลนี้ไปพิจารณา

นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สำนักงานคุรุสภาเคยได้เสนอรางวัลหนึ่งแสนครูดี มาขอเทียบการเลื่อนวิทยฐานะ แต่ ก.ค.ศ. พบว่าเกณฑ์ที่ได้มาของรางวัลไม่ครบองค์ประกอบของการพิจารณา จึงไม่มีการ พิจารณาให้เป็นผลงานเชิงประจักษ์



ที่มา:MatichonOnline



21/10/2558