ประวัติ

โรงเรียนวัดหนองสังข์ทองจัดตั้งขึ้นโดยนายอำเภอสามชุก เปิดเรียนเมื่อ วันที่ 16 มิถุนายนพ.ศ. 2483 โดยสร้างเป็นอาคารเรียนชั่วคราว มีนักเรียน 46 คน ครู 1 คน นายสุพจน์ แพกุญชร เป็นครูใหญ่ ต่อมานายประมวล สัตยวงศ์ ได้มาเป็นครูใหญ่ จึงได้ย้ายอาคารเรียนมาตั้งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของกุฏิวัดหนองสังข์ทอง เป็นอาคารเรียนชั่วคราวหลังคามุงสังกะสี
1 มิถุนายน พ.ศ.2503 นายสงัด เพชรรัตน์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ เนื่องจากอาคารเรียนชำรุดมาก จึงประชุมคณะกรรมการโรงเรียนและประชาชนตกลงย้ายอาคารเรียนไปอยู่ทางทิศใต้ของกุฏิวัดโดยทำเป็นอาคารเรียนชั่วคราวเช่นกันต่อมาคณะกรรมการโรงเรียนและประชาชนในท้องถิ่น ได้ร่วมกันบริจาคเงินซื้อที่ดิน ของ นายพาน อนันต์ จำนวน 9 ไร่ 20 ตารางวา , นายเขียว นางเหรียญ บริจาค 3 งาน , นายแก้ว นางทวี ประพันธ์พัฒน์ บริจาค 1 งาน เพื่อทำถนนเข้าสู่โรงเรียน ซึ่งปัจจุบันเป็นถนนสาธารณะ และ 1 ตุลาคม พ.ศ.2514 ได้งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ป. 1 ข ใต้ถุนสูงขนาด 4 ห้องเรียน1 หลัง เป็นเงิน 160,000 บาท ( หนึ่งแสนหกหมื่นบาท) โดยมีนายบำรุง ดีบัว เป็นครูใหญ่
5 สิงหาคม พ.ศ.2519 คณะกรรมการโรงเรียนและประชาชนได้ร่วมกันต่อเติมอาคารเรียนเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว จำนวน 2 ห้องเรียนสิ้นค่าใช้จ่าย 15,000 บาท พร้อมจัดหาโต๊ะ ตู้ประจำห้องเรียน เป็นเงิน 3,500 บาท เพื่อเตรียมการเปิดเรียน ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ในปีการศึกษา 2520 และในปีงบประมาณ 2519 นี้ ได้รับงบประมาณของสภาตำบลมาทำสนามหญ้าหน้าอาคารเรียน เป็นเงิน 27,000 บาท
ปีการศึกษา งบประมาณสร้างบ้านพักครู 1 หลัง เป็นเงิน 56,000 บาท
27 ตุลาคม พ.ศ. 2524 นายจอม ศรีสวัสดิ์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่
3 มกราคม พ.ศ. 2526 ได้รับจัดสรรงบประมาณสร้างถังเก็บน้ำฝน แบบ ฝ. 33 จำนวน 1 ชุด เป็นเงิน 30,000 บาท และวันที่ 11 มีนาคม 2526 การก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์แล้วเสร็จ งบประมาณ 160,000 บาท
30 มกราคม พ.ศ. 2527 กรมโยธาธิการได้มาเจาะบ่อน้ำบาดาล ลึก 89 เมตร เป็นเงิน 100,000 บาท นับว่าเป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนและประชาชนในบริเวณใกล้เคียงเป็นอย่างมาก
ปีการศึกษา 2530 นายเจริญ แก้วเรือง ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ได้ร่วมกับคณะครูผู้ปกครองนักเรียนจัดงานหาเงินเพื่อต่อเติมอาคารเรียนด้านล่าง เป็นห้องเรียน 1 ห้อง ห้องเก็บเครื่องมือเกษตร 1 ห้อง ห้องเด็กเล็ก 1 ห้อง ห้องผู้บริหาร 1 ห้อง เป็นจำนวนเงิน 125,000 บาท คุณจองชัย เที่ยงธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรีอนุมัติงบประมาณช่วยเหลือ 10,000 บาท และในปีนี้ประมงจังหวัดสุพรรณบุรี อนุมัติงบประมาณขุดบ่อเลี้ยงปลา ขนาดเนื้อที่ 2 ไร่ งบประมาณ 100,000 บาท มอบให้เป็นสมบัติของโรงเรียน และในการนี้ทางโรงเรียนได้รับบริจาคที่ดินจาก คุณยายสวิง จงชาญสิทโธ และคุณบุญเหลือ จงชาญสิทโธ จำนวน 1 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา เพื่อใช้ขุดบ่อเลี้ยงปลา
19 มิถุนายน พ.ศ. 2532 นายสมเชาว์ ศรีศักดา ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่
ปีงบประมาณ 2534 ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน แบบ 102/26 เป็นเงิน 720,000 บาท
9 มิถุนายน พ.ศ. 2535 นายเกียรติศักดิ์ ศรีสมพงษ์ ย้ายมาดำรงตำแหน่งครูใหญ่
กรกฎาคม พ.ศ. 2537 คุณจองชัย เที่ยงธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี จัดสรรงบประมาณสร้างสนามเด็กเล่น เป็นเงิน 17,000 บาท
7 สิงหาคม พ.ศ.2539 คุณจองชัย เที่ยงธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี จัดสรรงบประมาณสร้างถนนคอนกรีตทางเข้าโรงเรียน และบริเวณหน้าโรงเรียน ระยะทาง 224 เมตร เป็นเงิน 609,600 บาท
มกราคม พ.ศ. 2541 นายนคร อมรสุทธิสัตย์ ย้ายมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่
พ.ศ. 2543 ทำรั้วโรงเรียนด้านข้าง พร้อมประตูเหล็ก ได้รับงบประมาณสร้างถังเก็บน้ำฝนแบบ ฝ.33 จำนวน 1 ชุด และได้รับมอบถังเก็บน้ำฝน ขนาดบรรจุน้ำ 1,000 ลิตร จาก สปช. จำนวน 2 ถัง
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 นายวินัย กล้าหาญ ย้ายมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่
1 กรกฎาคม 2548 นายสญชัย ผลวงษ์ มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน โรงเรียนได้รับการพัฒนาทุกด้าน จนได้รับรางวัลโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับทอง ประจำปี 2548
โรงเรียนได้รับการรับรองคุณภาพจาก สมศ. ในการประเมินคุณภาพรอบ 2 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 ในระดับคุณภาพดี
ปี 2550 โรงเรียนได้รับรางวัล โครงการเด็กไทยทำได้ ในโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ได้รางวัลอันดับ 2 ของจังหวัดสุพรรณบุรี
วันที่ 30 มกราคม 2552 นายบุญลอย ปานมุนี ได้รับการแต่งตั้งให้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองสังข์ทอง
วันที่ 20 มกราคม 2553 นายปรเมศร์ ล้อมวงษ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ย้ายมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองสังข์ทอง จนปัจจุบัน

วิสัยทัศน์

วิสัยทัศน์โรงเรียนหนองสังข์ทอง
องค์กรเด่น เน้นคุณธรรม ก้าวนำวิชาการ สืบสานวัฒนธรรม
ล้ำเทคโนโลยี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

คำขวัญ

แต่งกายสะอาด มารยาทดี มีวินัย ตั้งใจเรียน เพียรทำดี

พันธกิจ

1. ส่งเสริมผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมายให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงเสมอภาคและเต็มตามศักยภาพ
2. พัฒนาคุณภาพผู้เรียนตามเกณฑ์มาตรฐานการศึกษาและความเป็นเลิศ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
3. ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาสภาพแวดล้อมแหล่งเรียนรู้สื่อนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและกระบวนการวิจัยที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้
4. พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพตามมาตรฐานวิชาชีพสอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและเขตพื้นที่การศึกษา
5. พัฒนาระบบการบริหารสถานศึกษาให้เข้มแข็งและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

เป้าหมาย

1. ประชากรวัยเรียนในเขตบริการทุกคนได้รับโอกาสเข้ารับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง
และเสมอภาค
2. ผู้เรียนทุกคนมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีคุณธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและมีจิตสาธารณะ
3. สถานศึกษาจัดการศึกษาโดยใช้แหล่งเรียนรู้สื่อนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและกระบวนการวิจัยพัฒนาเพื่อให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์สูงขึ้นและมีศักยภาพในการแข่งขัน
4. ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้มีสมรรถนะตามมาตรฐานวิชาชีพทุกคน
5. สถานศึกษามีระบบการบริหารจัดการที่เข้มแข็ง บริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศนวัตกรรมและการวิจัยพัฒนาการศึกษาภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน

อักษรย่อ

ส.ท.

ปรัชญา

นักเรียนในชุมชนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีทักษะในการดำเนินชีวิต ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีคุณธรรม จริยธรรมและความเป็นไทย มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข