ประวัติ

อำเภอแม่แจ่มเดิมชื่อ “อำเภอช่างเคิ่ง” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเชียงใหม่ เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ในหุบเขาที่สลับซับซ้อน วงการคณะสงฆ์ในสมันนั้นมีการปกครองแบบพ่อกับลูก มีการอบรมสั่งสอนและเคารพนับถือปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์สืบต่อกันมา การศึกษาของพระภิกษุสามเณรก็ศึกษาเฉพาะอักษรภาษาพื้นเมือง (ภาษาล้านนา) สวดมนต์ คาถาอาคมต่างๆ และปฏิบัติในแนวสมถะ และวิปัสสนากัมมัฏฐานกันมากกว่า
จนมาถึงสมัยที่ พระครูมหามงคล (สุดใจ สุมงฺคโล) เจ้าอาวาสวัดบุปผาราม ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวงช่างเคิ่ง ได้ส่งพระภิกษุที่เป็นสัทธิวิหาริกของท่านบางรูปให้ไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม แผนกนักธรรมที่อำเภอสันป่าตอง พระภิกษุที่ได้ไปศึกษารุ่นแรกๆ เหล่านั้นพอศึกษาเล่าเรียนและสอบนักธรรมได้บ้างแล้วก็กลับมาสอนกันเองที่วัด โดยยังไม่ได้เปิดเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม เมื่อถึงเวลาที่จะสอบธรรมสนามหลวงก็เดินทางไปสอบที่วัดช่างกระดาษ อำเภอสันป่าตอง
จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ. 2480 จึงได้เปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในอำเภอแม่แจ่ม ณ วัดบุปผาราม โดยมี พระครูมหามงคล เจ้าคณะอำเภอเป็นผู้ก่อตั้งขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนวิริยะมงคล” เมื่อเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นแล้ว จึงได้เปิดสนามสอบธรรมสนามหลวงขึ้นในอำเภอแม่แจ่ม ณ วัดบุปผาราม จึงมีพระภิกษุสามเณรจากวัดอื่นๆ มาอาศัยอยู่เพื่อศึกษาเล่าเรียนที่วัดบุปผารามเป็นจำนวนมาก การศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมเป็นที่สนใจของพระภิกษุสามเณรมากขึ้น จึงได้ขยายไปเปิดสำนักเรียนขึ้น ณ วัดบนนา อีกแห่งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2485 ต่อจากนั้นก็ขยายไปเปิดสำนักที่วัดกองกาน วัดป่าแดด ตามลำดับ
ต่อมาพระมหาอินสม อินฺทวณฺโณ (อินสม มอญไข่) ซึ่งได้เข้าไปศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ แล้วกลับมาเปิดสอน และจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม ประจำอำเภอแม่แจ่ม ขึ้นที่วัดกู่ เวลาจะมีการสอบธรรมสนามหลวง นักเรียนจากสำนักเรียนต่างๆ ก็จะมาสอบธรรมสนามหลวงพร้อมกันที่วัดกู่ การเรียนการสอน ตั้งแต่สมัยเริ่มแรกมาก็มีการเรียนการสอนเฉพาะแผนกธรรมเท่านั้น ยังไม่มีการสอนสายสามัญ มีการคิดที่จะเปิดสอนสายสามัญกันหลายครั้ง หลานหน แต่ก็ต้องเลิกล้มไป เพราะติดขัดเรื่องครูผู้สอนบ้าง จำนวนนักเรียนบ้าง งบประมาณที่จะมาดำเนินการบ้าง
จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ.2518 ได้เปิดโรงเรียนสายสามัญแก่พระภิกษุสามเณรขึ้นอย่างจริงจัง ณ วัดบุปผาราม โดยมีท่านพระครูปิยศีลาภรณ์ (พิมล ปิยธมฺโม) เจ้าอาวาสวัดบุปผาราม เจ้าคณะตำบลช่างเคิ่ง เขต 1 ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนผู้ใหญ่วัดบุปผาราม” เปิดสอนในระดับ 4 (ม. 3)

โดยมีนายประสาน สารทัน ศึกษาธิการอำเภอแม่แจ่ม เป็นผู้ประสานงาน โรงเรียนผู้ใหญ่
วัดบุปผาราม สังกัดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่ กรมการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวง ศึกษาธิการ มีพระภิกษุสามเณรในอำเภอแม่แจ่มมาเข้าศึกษาเล่าเรียนจบไปหลายรุ่น
ในเวลาต่อมา ได้เปิดกว้างให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนในวิชาสามัญมากขึ้น กรมการศาสนาก็สนับสนุนให้มีการจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญขึ้น คณะสงฆ์อำเภอแม่แจ่ม โดยพระครูญาณกิตติคุณ (ณรงค์ กิตฺติญาโณ) เจ้าคณะอำเภอแม่แจ่ม ได้ติดต่อขออนุมัติเปิดโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาขึ้น โยให้ชื่อว่า “โรงเรียนแม่แจ่มปริยัติศึกษา” ซึ่งเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สังกัดกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับการอนุมัติให้จัดตั้งขึ้น เลขที่ 18/2538 เมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2538
โดยการใช้อาคารเรียนของโรงเรียนพระปริยัติธรรมของอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณ วัดกู่ ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่เรียน โดยมีพระครูญาณกิตติคุณ เจ้าอาวาสวัดกู่ เป็นผู้จักการ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภอแม่แจ่ม เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งขึ้นร่วมกับคณะสงฆ์อำเภอแม่แจ่ม เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาเล่าเรียนแก่พระภิกษุ - สามเณร ในเขตอำเภอแม่แจ่มและอำเภอใกล้เคียง โดยมีคณะสงฆ์อำเภอแม่แจ่มเป็นผู้ให้การสนับสนุน
โรงเรียนแม่แจ่มปริยัติศึกษา สังกัดกองการศาสนศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดให้บริการปีการศึกษาแรกในปีการศึกษา 2538 มีพระมหาสงัด มนตภาณี เป็นครูใหญ่คนแรก มีครูและเจ้าหน้าที่ ทั้งหมดจำนวน 10 รูป / คน ได้เปิดทำการสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีอาคารเรียน 1 หลัง 2 ห้องเรียน มีนักเรียนทั้งหมาดจำนวน 68 รูป

ปัจจุบันโรงเรียนแม่แจ่มปริยัติศึกษา ได้พัฒนาบุคลากรและอุปกรณ์ทางเรียนการสอน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นมาโดยลำดับ และมีการขยายโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กโดยการจัดการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย มีครูและเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 13 รูป/คน มีอาคารเรียน 3 หลัง มีนักเรียนทั้งหมด 254 รูป


วิสัยทัศน์

วัด โรงเรียน ชุมชน มีส่วนร่วมสร้างคนให้มีคุณภาพ มีอาชีพที่มั่นคง และปรับตัว ยืดหยุ่น
ดำรงตนอยู่ในสังคมไทย ได้อย่างมีความสุข ( การศึกษาดี คนมีความสุข ชุมชนเข้มแข็ง เศรษฐกิจมั่นคงสิ่งแวดล้อมยั่งยืน )

คำขวัญ

เรียนดี รู้ดี มีคุณธรรม

พันธกิจ

1. สร้างความตระหนัก ( Awareness Stage )
2. สร้างความเข้าใจ ( Compritension Stage )
3. การชั่งใจ ( Evaluation Stage )
4. การทดลอง ( Trial Stage )
5. การยอมรับ / ปฏิบัติ ( Action / Adoption )

เป้าหมาย

ร่วมพัฒนาโรเรียนให้มีคุณภาพ ด้านการครองตน ครองคน ครองงาน ให้เป็นที่ยอมรับ ของชุมชน , สังคม และประเทศ

อักษรย่อ

มปศ. ภาษาไทย
MPS . ภาษาอังกฤษ

ปรัชญา

จัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะและการดำเนินชีวิตให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์